ทีม BCC Robot จากกรุงเทพคริสเตียนฯ คว้าแชมป์ Samsung Solve for Tomorrow

News Update

ซัมซุง จัดโครงการ Samsung Solve for Tomorrow ปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ อัพสกิลทักษะแห่งอนาคต โดยทีม BCC Robot จากกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศประเทศไทย ด้วยนวัตกรรม Fitness Force  จากผู้เข้าแข่งขันกว่า 308 ทีม ทั่วประเทศ

              กรุงเทพฯ, 8 ธันวาคม 2565 – ซัมซุง จัดโครงการ Samsung Solve for Tomorrow  ปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ประกวดออกแบบนวัตกรรมระดับสากลที่มีเยาวชนกว่าสองล้านคนจาก 35 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม สำหรับประเทศไทย บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ได้จัดขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นภาคีพันธมิตรหลัก ได้นำพาเยาวชนไทยกว่า 1,000 คน จาก 308 ทีมทั่วประเทศไทย เข้าร่วมประชันไอเดียสร้างสรรค์ ใช้ทักษะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ Innovation for Sustainable Communities, Good Health & Wellbeing

              โดยทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ทีม BCC Robot จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยโชว์ไอเดียสุดล้ำด้วยนวัตกรรม Fitness Force ได้รับทุนการศึกษา มูลค่า 200,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม ฝัน จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ด้วยนวัตกรรม DremIN ได้รับทุนการศึกษา มูลค่า 100,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับสอง ได้แก่ ทีม Lunares จากโรงเรียนสาธิตการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ด้วยนวัตกรรม Cloud based TDS meter and TDS limiting system ได้รับทุนการศึกษา มูลค่า 50,000 บาท  

              ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จุดประสงค์หลักของเราคือการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ เยาวชนที่ร่วมโครงการจะได้เอาความรู้ในเชิงทฤษฎีในห้องเรียนมาผสมผสาน จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อทำเป็นโครงการที่สร้างสรรค์ เราได้เปิดช่องทางเรื่องการรับเข้าเรียนแบบพอร์ตโฟลิโอสำหรับน้องๆ เหล่านี้ที่สามารถทุ่มเท หาตัวตน หาแรงบันดาลใจของตัวเองให้เจอ เพื่อต่อยอดเส้นทางในการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยได้  ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ทุกคนต้องผ่านกระบวนการสอบอย่างเดียว โลกเปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไป ผมคิดว่าโอกาสสำหรับเด็กและเยาวชนที่ใส่ใจในการเรียนรู้ด้วยตัวเองนั้นมีมากขึ้น”

              นางสาวปารมี ทองเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า “ซัมซุง รู้สึกยินดีมากที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้นที่ประเทศไทยเป็นปีแรก หลังจากที่ประสบความสำเร็จในระดับสากลมาแล้วถึง 35 ประเทศ  ในปีนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม มีเยาวชนมาร่วมประกวดออกแบบนวัตกรรมกว่า 308 ทีม ถือว่าซัมซุง ได้ตอบโจทย์ความมุ่งมั่นที่จะสร้างให้เยาวชนได้มีบทบาทในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี, IoT, Design Thinking และ Innovation เพื่อต่อยอดพัฒนาการดำรงชีวิตโลกยุคใหม่ให้ยั่งยืนและดียิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งซัมซุงขอแสดงความยินดีกับทีมที่ได้รับรางวัล และฝากให้ทีมที่ไม่ได้รับรางวัลในปีนี้ ให้สู้ต่อไป และต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุน  ซัมซุงในฐานะหน่วยงานภาคเอกชนและเป็น Technology Company ยังคงที่จะดำเนินการร่วมกับพันธมิตรจัดโครงการนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป นอกจากจะสร้างนวัตกรรุ่นใหม่แล้ว ก็ยังมุ่งมั่นที่จะต่อยอดแนวคิด ผลักดันผลงานให้เป็นรูปธรรมเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป”

              นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ ขอขอบคุณซัมซุงที่จัดโครงการดีๆ ขึ้น ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นในเมืองไทยเป็นครั้งแรกจากที่เคยจัดมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก เราได้ทีมทั้งหมด 308 ทีม จากเยาวชนกว่าพันคนมาแข่งขันกัน จนเหลือ 10 ทีมที่ผ่านสู่รอบชิงชนะเลิศในวันนี้ ซึ่งทุกคนมีความตั้งใจ และสามารถนำแนวคิดในวันนี้ไปต่อยอดได้มากมายในอนาคต ประกาศนียบัตรหรือเงินรางวัลที่ได้ในวันนี้ถือเป็นแค่จุดเริ่มต้น อยากฝากถึงเยาวชนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ว่าถ้าหากว่ามีโอกาสปีต่อไป อยากให้ลองเข้ามาสมัครร่วมแสดงผลงานกันเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับตัวเอง”

              สำหรับทีมชนะเลิศ BCC Robot จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย นายณัทสกรรจ์ อัศวโรจน์พาณิช ทำหน้าที่ด้าน กราฟฟิก, AI,ข้อมูลด้านร้านค้า, นายกิตติธัช มานะจิตประเสริฐ ดูแลด้านซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่น, นายนิธิโชติ เสนอคำ และ นายชวิศ อรรถสุขวัฒนา รับผิดชอบด้านฮาร์ดแวร์  ทีมดังกล่าวนำเสนอนวัตกรรม Fitness Force ที่เกี่ยวกับเครื่องออกกำลังพร้อมฟังก์ชันตรวจจับความเคลื่อนไหว โดยจะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกาย การคำนวณและให้ข้อมูลในด้านอาหารและการเผาผลาญพลังงานผ่านทางแอปพลิเคชัน โดยมีการเชื่อมรูปแบบการออกกำลังกายเข้ากับเกมเพื่อเป็นเป้าหมายในการออกกำลังกายที่สนุกยิ่งขึ้น 

              น้อง ๆ ทีม BCC Robot  บอกว่า  “ เนื่องจากมีผู้คนที่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเพิ่มมากขึ้น จึงคิดค้นนวัตกรรมนี้เพื่อต้องการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว  โดย Fitness Force เป็นเครื่องยืดเพื่อแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย  ในแอปพลิเคชันจะมีเกมและเหรียญให้สะสมเพื่อจูงใจผู้ใช้ ทั้งยังสามารถใช้แอปพลิเคชันได้พร้อมกันหลายเครื่องสมาร์ทโฟน เป็นโครงการที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่อง wellbeing และ sustainable ในส่วนของฮาร์ดแวร์ได้มีการพัฒนาจากเวอร์ชันที่ 1 ตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูล ดูข้อผิดพลาดต่างๆ และนำไปพัฒนาเรื่อยๆจนถึงเวอร์ชันที่ 5 เพื่อนำมาพรีเซนต์ในวันชิงชนะเลิศ ในส่วนของแอปพลิเคชัน ได้ทำการพัฒนา UI User Interface และทำการพัฒนาส่วนอื่นๆ ของแอปพลิเคชันไปด้วย ”

              ส่วนทีมรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ชื่อทีม ฝัน จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์  ได้นำเสนอนวัตกรรม DremIN ประกอบด้วย นายเทพรักษ์วี ปาลมา ทำหน้าที่ออกแบบ UI และทดสอบ นายปัณณวิชญ์ ตัณฑวิเชียร ทำหน้าที่เขียนโค้ดด้าน AI นายธรรม์ รัตนกิจ ช่วยเขียนโค้ดเสริม นายธิติ ไกรเพชร และนางสาวณิชาวีณ์ ภิรมย์โชติศิริ ดูแลแอปพลิเคชันและ Facebook   ทีมนี้ได้เสนอแนวคิดโปรแกรมเมาส์และคีย์บอร์ดสำหรับผู้พิการที่ไม่สามารถใช้คีย์บอร์ดได้   โดยการใช้ระบบการตรวจจับใบหน้าและการขยับหัวเข้ามาช่วยในการขยับเมาส์และคีย์บอร์ด  

              สมาชิกทีมฝันบอกว่า “ เริ่มต้นจากแนวคิดที่อยากจะช่วยผู้พิการทางแขนที่ยังไม่ค่อยมีใครที่จะหาวิธีที่จะสามารถทำให้ผู้พิการเหล่านั้นสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ด้วยตัวเองในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แอปพลิเคชันนี้จึงเกิดขึ้น โดยได้คิดการควบคุมคอมพิวเตอร์สำหรับผู้พิการทางแขน เป็นการใช้ใบหน้า Facial Landmark ที่ตรวจสอบใบหน้าและใช้ตาเป็นหลักในการควบคุมเม้าส์แทน โดยสามารถใช้ได้ทั้งแบบใส่และก็ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ต้องขอขอบคุณซัมซุงที่ให้โอกาสได้สร้างนวัตกรรมจริงๆ ขึ้นมา และได้ความรู้มากมายจากการเข้าเวิร์คช็อปทั้งในเรื่อง Design thinking, IoT แล้วก็ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วย เหมือนชื่อทีมฝันของเรา ที่อยากให้ความฝันไปได้ไกลขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น” 

              ขณะที่ทีมรองชนะเลิศ อันดับ 2  Lunares   จากโรงเรียนสาธิตการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นำเสนอนวัตกรรม Cloud based TDS meter and TDS limiting system  ประกอบด้วย นายนนทพัทธ์ ชะนะมา ทำหน้าที่ Developer นางสาวณภัทร สีตสุวรรณ ทำหน้าที่ Project Manager นางสาว ธนพร ศรีสิงห์  ทำหน้าที่ Researcher, นางสาว มลนิชา แป้งใส ทำหน้าที่ Graphic Designer  นำเสนอแนวคิดเครื่องกรองน้ำที่ช่วยปรับสมดุลของน้ำประปาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยวัดค่าคุณภาพน้ำผ่านระบบเซนเซอร์ ประเมินและแสดงผลไปยังแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน